บริการรับฝากขาย-เช่าที่ดิน บ้าน คอนโด ทำโฆษณาให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โทร 094-6561965

เคล็ดลับการขอสินเชื่อธนาคาร



รู้หรือไม่ว่าอะไรคือสิ่งที่หายากมากที่สุดอย่างหนึ่งในการทำธุรกิจ ณ ขณะเวลาปัจจุบัน คำตอบก็คือการทำธุรกิจโดยปราศจากการขอกู้ยืมเงินทุนจากทางธนาคารนั่นเอง ซึ่งเชื่อว่าทุกบริษัทในทุกสาขาธุรกิจต่างต้องเคยผ่านประสบการณ์ในจุดดังกล่าวมาด้วยกันแล้วทั้งสิ้น มิหนำซ้ำอาจจะอยู่ในช่วงของการรอฟังคำตอบหรือไม่ก็อาจจะมีแนวคิดในการขอกู้ยืมเงินมาลงทุนในอนาคตจากทางธนาคารอยู่ก็เป็นได้ และชื่อเสียงที่ได้รับการกล่าวขานร่ำลือกันมาอย่างยาวนานอยู่คู่กันกับการขอสินเชื่อจากทางธนาคารก็คือเรื่องขอการถูกปฏิเสธที่มีถึง 50% ในอดีตและอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 70% ในสภาวะทางเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน

ผู้ประกอบการหลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมการขอสินเชื่อให้ธุรกิจของตนเองจึงถูกปฏิเสธทั้งๆที่มีแผนงานและการเขียนโครงการอย่างอลังการ ซึ่งความจริงแล้วสาระสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่จุดนั้นแต่เพียงอย่างเดียว มันมีอะไรที่สลับซับซ้อนกว่านั้นมาก ในมุมมองของทางธนาคารกับการอนุมัติให้สินเชื่อ ซึ่งผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งได้ให้คำแนะนำและสุดยอดเคล็ดลับการขอสินเชื่อให้โดนใจธนาคารไว้ดังต่อไปนี้

  • เดิน Statement ให้สวยงาม

เพราะธนาคารไม่ได้รู้จักใกล้ชิดกับลูกค้าดีทุกคน และงบการเงินของธุรกิจเล็กๆ โดยเฉพาะธุรกิจ SME โดยเฉลี่ยมีความผิดพลาดที่สูงมาก และมากกว่า 80% ไม่มีงบการเงินมาแสดง ทุกธนาคารจึงอ้างอิงกระแสเงินสดเข้า – ออกบัญชีหรือที่เรียกกันว่ายอดหมุนเวียนบัญชี มาเป็นตัวในการประเมินรายได้ ดังนั้นการประเมินจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะสร้างประวัติธุรกิจของผู้ประกอบการให้กับธนาคารได้รับทราบ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเดิน statement ในจุดนี้ให้ดีๆ พร้อมทั้งความสวยงามในระบบบัญชี มีการเข้าออกของเงินในการทำธุรกิจอยู่อย่างเสมอ เวลถอนเงินไม่ควรที่จะทำการเบิกเงินจนเกลี้ยงบัญชี และต้องขยันนำสมุดบัญชีไปอัพเดทบ่อยๆ

  • รักษาเครดิตให้ดีที่สุด

เครดิตหรือความน่าเชื่อถือคือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทางธนาคารให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรใส่ใจในประวัติทางการชำระเงินทั้งบัตรเครดิตของตนเองหรือสินเชื่อชนิดต่างๆทั้งของตนเองและของหุ้นส่วนธุรกิจด้วย การมีระเบียบวินัยทางการเงินของผู้ประกอบการจึงถือเป็นคุณสมบัติประการต้นๆของการพิจารณาจากธนาคารพาณิชย์ (ข้อมูลเครดิตทางการเงินสามารถขอตรวจสอบได้จากทางธนาคารทั่วๆไป)

  • อย่าปล่อยให้มีประวัติเช็คคืนเกิดขึ้นเป็นอันขาด


ผลเสียอย่างใหญ่หลวงที่จะมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อจากทางธนาคารก็คือการมีประวัติเช็คคืนหรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านตลาดสดว่าเช็คเด้งนั่นเอง ผู้ประกอบการจะต้องทำการป้องกันมิให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นอันขาด ถ้าไม่มีเงินในบัญชีก็ไม่ควรจะสั่งจ่ายเช็คออกไปเพราะนอกจากจะมีปัญหาในเรื่องของประวัติที่จะมีผลกระทบต่อการขอสินเชื่อแล้วยังจะมีผลจะต้องรับผิดทางกฎหมายด้วย และเชื่อเถอะว่าไม่มีธนาคารรายใดจะยอมปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีประวัติในเรื่องดังกล่าวแน่นอน

  • วางใจธนาคารในเรื่องการรักษาความลับ

ปัญหาอย่างหนึ่งของการขอสินเชื่อคือผู้ประกอบการไม่ยอมให้ข้อมูลทางธุรกิจตามความเป็นจริงเพราะกลัวว่าข้อมูลทางธุรกิจจะถูกเปิดเผยหรือกลัวว่าธนาคารจะไม่ให้สินเชื่อจึงตกแต่งบัญชีขึ้นมาเพื่อให้ดูดี ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดอย่างมหันต์เพราะถึงอย่างไรเสียธนาคารก็ตรวจสอบได้อยู่ดี ดังนั้นกรุณาบอกความจริงเรื่องรายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆกับทางธนาคาร เพราะธนาคารจะรักษาความลับทางธุรกิจในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดีและไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลนี้ไปสู่ผู้อื่นได้โดยเฉพาะกับกรมสรรพากร

  • เอกสารทางการทุกชิ้นมีค่า

บัญชีซื้อ บัญชีขาย สำเนาใบกำกับภาษี ใบสั่งซื้อ ใบเสร็จรับเงิน ฯลฯ เป็นเอกสารที่มีค่ากับทางธนาคารมากเพราะเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในการพิจารณา ดังนั้นอย่าทิ้งขว้างเด็ดขาดให้เก็บไว้เป็นอย่างดีและจัดหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบทุกชิ้นด้วยเพื่อความสะดวกในการเรียกดูและนำมาตรวจสอบ

  • หลักประกันคือฟันเฟืองสำคัญ

หลักประกันที่ดีที่สุด คือ สถานประกอบการ รองลงมาคือที่ดินที่มีไว้ในครอบครองแต่ไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบการ สิ่งก่อสร้างหรือเครื่องจักร หลักประกันเหล่านี้จะมีประโยชน์สูงสุดและช่วยทำให้อนุมัติได้รวดเร็วและได้จำนวนเงินที่มากก็ต่อเมื่อธนาคารพิจารณาดูแล้วเห็นว่าสามารถเข้าไปครอบครองได้ทันทีและสะดวกในการขายทอดตลาดเพราะมีความต้องการซื้อสูง ถ้าเกิดมีปัญหาในกรณีที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น

  • แหล่งรายได้และภาระหนี้สินคือที่มาของวงเงิน

การทำธุรกิจสินเชื่อของธนาคารไม่ได้มุ่งหวังที่จะเข้าไปครอบครองหลักประกันที่นำมาจำนองไว้แต่ประการใด แต่มุ่งหวังที่จะได้ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเพียงเท่านั้น ดังนั้นธนาคารจะดูความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลักจึงทำให้หลักประกันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ถึงแม้ว่าหลักประก้นจะมีมูลค่ามากมายสักเพียงไหนก็ตาม การบริหารจัดการเรื่องทางการเงินภายในบริษัทจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องจัดสรรให้ลงตัว

  • ไม่มีหลักฐานประกันก็ขอสินเชื่อได้

ปัจจุบันนโยบายของทางธนาคารได้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะขนาดเล็กๆ จึงทำให้เกิดขอเสนอสินเชื่อธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกันเกิดขึ้น โดยจะอยู่ในรูปของสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจที่มีอยู่ในทุกธนาคาร แต่ธนาคารจะถือว่าสินเชื่อประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้นคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะขอต้องมีคุณสมบัติสูงกว่าปกติทั่วไปในเรื่องของประสบการณ์ ยอดเดินบัญชีตามไปด้วย สินเชื่อประเภทนี้สมัครและอนุมัติง่ายแต่ที่สำคัญคือดอกเบี้ยจะแพงกว่าปกติถึง 13.3% ต่อปี

  • เตรียมพร้อมดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

การขอสินเชื่อที่ดีต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ซี่งนอกเหนือจากเรื่องของเอกสารแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องทำ คือ ประเมินแผนการทางการเงินของผู้ประกอบการเองอย่างคร่าวๆ ว่าต้องการเงินสินเชื่อเป็นจำนวนเท่าไหร่ รายได้ต่อปีมากขนาดไหน และต้องการผ่อนชำระนานเป็นระยะเวลเท่าไหร่ด้วย

เคล็ดลับทั้ง 9 ประการของการขอสินเชื่อให้โดนใจแบงค์นั้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจำต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างละเอียด เพราะนี่คือวิธีการคิดและพิจารณาจากมุมมองของธนาคารเองที่ได้รับฟังจากปากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคาร แต่เหนือสิ่งอื่นใดการขอสินเชื่อจะถือได้ว่ามีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการใช้เงินที่ได้ทำการกู้ยืมมาคืนกลับไปแก่ธนาคารครบทุกบาททุกสตางค์จึงจะถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง การได้รับอนุมัติจึงเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของหน้าที่ความรับผิดชอบทางธุรกิจอันยิ่งใหญ่แต่เพียงเท่านั้น


ที่มา: http://incquity.com/articles/money-talk/get-your-loan

LPN ทุบสถิติ ปิดยอดขายครึ่งปีทะลุ 1.55 หมื่นล้าน

LPN



LPN ฉลอง 24 ปี ปิดยอดขายครึ่งปีแรกทะลุ 15,500 ล้านบาท ล่าสุด ปิดขายคอนโดฯ 2 โครงการ ลุมพินี เพลส ศรีนครินทร์-หัวหมาก สเตชั่น และลุมพินี พาร์ค พระราม 9-รัชดา หมดเกลี้ยงภายใน 3 ชั่วโมง เตรียมผุดโครงการต่างจังหวัดไตรมาส 3 มั่นใจสิ้นปียอดขายทะลุ 25,000 ล้านบาท

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 56 ที่ผ่านมา บริษัทเปิดขายคอนโดมิเนียม 2 โครงการ คือ ลุมพินี เพลส ศรีนครินทร์-หัวหมาก สเตชั่น และลุมพินี พาร์ค พระราม 9- รัชดา โดยสามารถปิดการขายได้ทั้งหมด 100% มูลค่า 5,500 ล้านบาท ภายในเวลา 3 ชั่วโมง โดยก่อนที่จะเปิดขายทั้ง 2 โครงการ ลูกค้าให้ความสนใจอย่างล้นหลาม และมียอดลงทะเบียนจองกว่า 10,000 ราย รวมทั้งมีลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมห้องตัวอย่างพร้อมสอบถามข้อมูลโครงการที่สำนักงานขายอย่างต่อเนื่อง

สำหรับครึ่งปีแรกนี้ บริษัทสามารถทำรายได้จากยอดขายรวมทั้งสิ้น 15,500 ล้านบาท จาก 6 โครงการ ได้แก่ ลุมพินี เพลส ยูดี-โพศรี จังหวัดอุดรธานี, ลุมพินี ลุมพินี คอนโดทาวน์ ลาดปลาเค้า 2, ลุมพินี เพลส สุขสวัสดิ์-พระราม 2, ลุมพินี วิลล์ อ่อนนุช-ลาดกระบัง, ลุมพินี เพลส ศรีนครินทร์-หัวหมาก สเตชั่น และลุมพินี พาร์ค พระราม 9-รัชดา

ทั้งนี้ เชื่อว่าความสำเร็จดังกล่าวมาจากความแข็งแกร่งของแบรนด์ “ลุมพินี” ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าในการพัฒนาอาคารชุดพักอาศัย และการบริหารหลังการขายแบบมืออาชีพภายใต้กลยุทธ์ “ชุมชนน่าอยู่” รวมถึงการเลือกทำเลที่ตั้งโครงการ และการกำหนดราคาที่ลูกค้าสามารถเป็นเจ้าของได้ (Affordable Price) ทำให้ตอบสนองความต้องการ “บ้าน” หลังแรกที่ยังคงมีความต้องการเป็นจำนวนมากได้เป็นอย่างดี

นายโอภาส กล่าวต่อว่า ไตรมาส 3 นี้บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนา 3 โครงการ ได้แก่ สุขุมวิทซอย 24 อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี, อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังมองหาบ้านพักตากอากาศคุณภาพบรรยากาศใกล้ทะเลในราคาที่สามารถซื้อได้ และโครงการขนาดยักษ์ “ลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต คลอง 1” ในราคาไม่เกิน 7 แสนบาท บนพื้นที่จำนวน 100 ไร่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก จากความร่วมมือระหว่างบริษัท LPN และบริษัท สยามฟิวเจอร์ จำกัด (มหาชน) โดยคาดว่าสิ้นปีนี้บริษัทจะฉลองครบรอบ 24 ปี ด้วยยอดขายที่สูงถึง 25,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นยอดขายที่เติบโตถึง 127% เมื่อเทียบกับยอดขายครึ่งปี 2555 จำนวน 11,000 ล้านบาท


เครดิต: http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000069806