บริการรับฝากขาย-เช่าที่ดิน บ้าน คอนโด ทำโฆษณาให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โทร 082-515-9893

ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด

บริษัทลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน)

หรือ "ลลิล" เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2531 ช่วงที่เศรษฐกิจไทยถูกขานว่ายุคทอง โดย ทวีศักดิ์ วัชรรัคคาวงศ์ และไชยยันต์ ชาครกุล จากโครงการทาวน์เฮาส์ โครงการแรกที่ชื่อ ลัลลี่ วิลล์ ที่ถนนศรีนครินทร์ และธูปะเตมีย์ จำนวนรวม 800 หลัง

บนพื้นที่ 88 ไร่ มูลค่าโครงการรวม 1.1 พัน ล้านบาท มาถึงปัจจุบันบริษัทพัฒนาโครงการมาแล้วไม่น้อยกว่า 50 โครงการ มูลค่าการพัฒนารวมหลักหมื่นล้านบาทในห้วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา โดยมียอดขายเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี และรายได้รวมอยู่ระหว่าง 1.5-2 พันล้านบาทต่อปี
 
 ถึงแม้ "ลลิล" จะมีอายุยาวนานกว่า 25 ปี เมื่อเทียบยอดขายกับบริษัทที่มีอายุไล่เลี่ยกันหรือหลายบริษัทที่ก่อตั้งในช่วงหลังปี 2531 จะเห็นว่า บริษัทมีอัตราการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปและบางช่วงเวลาบริษัทก็ชะลอการขยายตัวด้วยแนวคิดในการทำธุรกิจแบบอนุรักษนิยมของผู้บริหาร อย่าง "ไชยยันต์ ชาครกุล" ที่เน้นการทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปประมาณช้าแต่แน่นอน ทำให้บริษัทผ่านวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มาได้โดยที่ไม่ได้รับผลกระทบเหมือนกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง ก่อนบริษัทมาถึงจุดเปลี่ยน เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 ซึ่งห้วงเวลานั้น ถือว่าดีที่สุดของ บริษัทลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) เพราะสามารถรั้งตำแหน่งเป็นบริษัทที่มีผลประกอบการติดอันดับ 1 ใน 3 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มียอดขายและรายได้สูงสุดในห้วงเวลานั้นเป็นรองแค่บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) โดยมีผู้บริหารที่ชื่อ ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต รองกรรมการผู้จัดการในขณะนั้นมีส่วนในการผลักดันธุรกิจของบริษัทให้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่เมื่อเกิดวิกฤติซับไพรม์ในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปี 2551 จนเกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ไชยยันต์ ตัดสินใจชะลอการลงทุน ในขณะที่ประเสริฐ หนึ่งในทีมบริหาร ตัดสินใจ ลาออกไป ร่วมงานกับ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) ผลจากสถานการณ์ภายนอกและการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ทำให้การดำเนินธุรกิจของ "ลลิล" กลับเข้าสู่ยุคระมัดระวังอีกครั้ง บริษัทชะลอแผนการลงทุนในโครงการใหม่ เน้นการขายโครงการเก่าที่มีอยู่ในมือเป็นหลัก
และในห้วงเวลาที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก กระโจนเข้าสู่การพัฒนาคอนโดมิเนียม ในช่วงปี 2545-2553 "ลลิล" คงยืนหยัดอยู่ที่การพัฒนาโครงการในแนวราบที่พัฒนาอยู่เดิม และยึดหลักการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เปิดตัวโครงการใหม่เฉลี่ยไม่เกิน 2 โครงการต่อปีมูลค่าไม่เกิน 2 พันล้านบาท ทำให้ "ลลิล" ขยับจากบริษัทอสังหารริมทรัพย์ดาวรุ่งมาอยู่ลำดับกลางๆ โดยขนาดและรายรับห่างจาก บริษัทชั้นนำอย่างบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) บริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน) และอีกหลายบริษัทที่เปิดแนวรุกการพัฒนาโครงการทั้งแนวราบและแนวสูงไปพร้อมๆ
**ตัดสินใจใหม่
ต่อมาในปี 2554 ลลิล เริ่มมีแนวคิดในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ภายใต้ชื่อ Levo Condo ภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารรุ่นที่ 2 ทายาทของไชยยันต์ อย่าง ชูรัชฏ์ ชาครกุล ที่เข้ามาดูโครงการพัฒนาคอนโดมิเนียม หลังการปรับโครงสร้างธุรกิจจากเดิมที่พัฒนาโครงการภายใต้การบริหารงานของไชยยันต์ ชาครกุล เป็นหลัก มาเป็น 3 ส่วนงานที่แบ่งการบริหารงานออกเป็นส่วนงานพัฒนาโครงการในแนวราบ ส่วนงานพัฒนาโครงการแนวสูง และส่วนงานพัฒนาโครงการในต่างจังหวัด นับเป็นการปรับกลยุทธ์ครั้งล่าสุดของบริษัทหลังจากปี 2545

การเปิดแนวรุกทางธุรกิจในครั้งนี้ บริษัทกำหนดยุทธศาสตร์ไม่ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในตลาดที่พัฒนาโครงการทั้งแนวราบ แนวสูง และต่างจังหวัด เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ทำให้บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,500 ล้านบาทก่อนปี 2553 ปรับเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี โดยในปี 2553 มีรายได้ 1,709.39 ล้านบาท กำไรสุทธิ 326.54 ล้านบาท ปี 2554 รายได้รวม 1,867.14 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 293.50 ล้านบาท ปี 2553 และงวด 9 เดือนปี 2555 มีรายได้ 1,097.50 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 157.14 ล้านบาท
และมีเป้าหมายรายได้ไม่น้อยกว่า 2,250 ล้านบาทในปี 2556 หรือมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอัตราร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีแผนเปิดโครงการใหม่มากเป็นประวัติการณ์คือ 10 โครงการ มูลค่าไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท
เรียกว่าเป็นการเปิดแนวรุกอีกครั้งเมื่อทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาบริหารงาน หลังจากที่ปล่อยให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ วิ่งแซงหน้าไปหลายช่วงตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่การเปิดแนวรุกครั้งนี้จะสามารถวิ่งตามคู่แข่งได้ทันหรือไม่คงต้องติดตามกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,818 วันที่ 14 - 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556