บริการรับฝากขาย-เช่าที่ดิน บ้าน คอนโด ทำโฆษณาให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โทร 082-515-9893

แรงงาน การเมืองป่วน ฉุดตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย


แรงงานขาด-การเมืองป่วน ฉุดตลาดอสังหาฯ

ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เผชิญหลายปัจจัยรุมเร้า จากต้นทุนค่าแรง และราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น ปลายปียังเผชิญปัญหาการเมือง แม้ต้นปีแต่ละผู้พัฒนาโครงการจะออกตัวแรงด้วยการประกาศเปิดตัวโครงการจากหลายค่าย 3 สมาคมอสังหาฯ ยังออกมาประเมินสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ปีหน้า ว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่ไม่สดใสนัก

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในฐานะประธานเปิดงาน "มหกรรมบ้านและคอนโด" ครั้งที่ 29 โดยระบุว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้หลายฝ่ายกังวลภาวะฟองสบู่ จากการที่ผู้ประกอบการหลายรายแข่งขันด้านราคา ทั้งไม่มีเงินดาวน์ หรือผ่อนดาวน์ต่ำเพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการได้กำหนดอัตราการวางเงินดาวน์ในสัดส่วนที่เหมาะสมมากขึ้น จึงมองว่าภาคอสังหาฯ ยังมีความสดใส

"ตอนนี้เรื่องของฟองสบู่ไม่ได้น่าเป็นห่วงแล้ว ยังมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและมีกำลังซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดูจากยอดขายในช่วงที่ผ่านมาที่ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์" นายกิตติรัตน์ ระบุ

ส่วนการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้นนั้น ถือเป็นการพิจารณาสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง ทำให้สินเชื่อไม่เป็นปัญหาในอนาคต ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ดีขณะนี้เริ่มมีบางธนาคารที่หันไปจับกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีรายได้ประจำ หรือมีอาชีพอิสระ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น

ศึกหนักปี 2557 "แรงงาน-ต้นทุนก่อสร้าง"


นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2557 โดยคาดว่าจะเติบโต 5% มองว่าปัจจัยลบจากตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือน และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มผ่อนคลายลง หลังจากปีนี้หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นสัดส่วน 80% ของอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังปล่อยสินเชื่อ จึงทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อภาพรวมเพิ่มขึ้นจากเดิม 16-17% เพิ่มเป็น 20%

ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลกระทบหลักต่อธุรกิจอสังหาฯ ปีหน้า ยังคงเป็นปัญหาแรงงาน โดยจะรุนแรงมากขึ้น ผลจากการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคด้านคมนาคม ที่ต้องการใช้ผู้รับเหมาและแรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดปัจจุบันแรงงานทั้งระบบขาดอยู่ 1 แสนคน รวมถึงต้นทุนค่าก่อสร้าง ยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง ทั้งต้นทุนวัสดุก่อสร้าง คาดเพิ่มขึ้น 5% โดยเฉพาะคอนกรีตผสมเสร็จ เพราะผู้ผลิตไม่ได้มีแผนขยายเครื่องผสมปูนเพิ่มเติม

ขณะที่ราคาที่ดินปรับขึ้นมากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น คาดบ้านจัดสรรปรับขึ้นไม่ต่ำกว่า 5% ขณะที่คอนโดคาดจะปรับขึ้นกว่า 10% เพราะราคาที่ดินพัฒนาคอนโดจะอยู่ในเมือง หรือแนวรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นทำเลที่ราคาจะปรับสูงกว่าทำเลอื่นๆ


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 15 พ.ย. 56 (http://www.bangkokbiznews.com/)