บริการรับฝากขาย-เช่าที่ดิน บ้าน คอนโด ทำโฆษณาให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โทร 094-6561965

ประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต - คูคต สิ้นปี56

ประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-คูคต 2.6หมื่นล้าน



ครม.ปูไฟเขียวสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว "หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" ระยะทาง 19 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 5.8 หมื่นล้าน รฟม.แยก 5 สัญญา ปลายปีนี้ประกาศขายแบบงานโยธากว่า 2.9 หมื่นล้าน เผยราคาประเมินใหม่ดันค่าเวนคืนที่ดินพุ่ง 120% จาก 4 พันล้านกระฉูดเกิน 7 พันล้าน แจ็กพอตที่ดิน 262 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 275 หลัง ได้ฤกษ์ตอกเข็มกลางปี"57 เปิดบริการกลางปี"61
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ตุลาคม 2556 ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร เงินลงทุน 58,590 ล้านบาท ซึ่งใช้เงินลงทุนใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หลังจากนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะดำเนินการเปิดประมูลก่อสร้างต่อไป โดยเป็นรูปแบบประมูลแบบนานาชาติ

แยกประมูล 5 สัญญา

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รฟม.จำเป็นต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการ เนื่องจากวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประเมินไว้เมื่อปี 2551 เพื่อให้เป็นราคาปัจจุบัน สอดรับกับราคาประเมินที่ดินและวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงได้ย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงจากฐานทัพอากาศมาอยู่ที่ลำลูกกาคลอง 2 ทำให้วงเงินลงทุนทั้งโครงการเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 40,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 58,590 ล้านบาท



ทั้งนี้ เมื่อมีมติ ครม.อนุมัติ เตรียมเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.อนุมัติในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเปิดประกาศประมูลก่อสร้างงานโยธา จำนวน 4 สัญญา จากทั้งโครงการแบ่งเป็น 5 สัญญา ได้แก่ งานโยธา 2 สัญญา วงเงิน 29,225 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.สัญญาช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ (รวมรื้อสะพานข้ามแยก 3 แห่ง) ระยะทาง 11.4 กิโลเมตร วงเงินกว่า 12,000 ล้านบาท

กับ 2.สัญญาช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7 กิโลเมตร วงเงิน 6,000-7,000 ล้านบาท, งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร จำนวน 1 สัญญา, งานระบบรางทางวิ่ง จำนวน 1 สัญญา และงาน

เดินรถไฟฟ้า 1 สัญญา 

นายยงสิทธิ์กล่าวว่า โครงการนี้อยู่ใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างที่ปรึกษา 1,703 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 7,606 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 29,225 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า 20,055 ล้านบาทสิ้นปีประมูลโยธา 3 หมื่นล้าน

"ตามขั้นตอนถ้าบอร์ดเห็นชอบจะประกาศเชิญชวนประมูลก่อสร้าง ตามแผนงานคาดว่าจะเริ่มกระบวนการได้ปลายปี 2556 ยื่นซองและเซ็นสัญญาก่อสร้างกลางปี 2557 พร้อมเริ่มกระบวนการจัดหาระบบรถไฟฟ้า และเปิดบริการเดือนมิถุนายน 2561"

นายยงสิทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับแนวเส้นทางโครงการจะก่อสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีหมอชิต ไปตามแนวถนนพหลโยธิน ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยก ม.เกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณซอยพหลโยธิน 55

จากนั้นแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกไป เลียบกับแนวถนนฝั่งซ้ายจนถึงอนุสาวรีย์บริเวณวงเวียนหลักสี่ แล้วเบี่ยงกลับมาแนวเกาะกลางถนนพหลโยธิน ผ่านหน้าตลาดยิ่งเจริญ เมื่อถึงประมาณกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน จะเบี่ยงไปทางทิศตะวันออก หรือด้านเหนือของพื้นที่ประตูกรุงเทพฯ เข้าถนนลำลูกกา ผ่านด้านข้างสถานีตำรวจภูธรคูคต ไปสิ้นสุดที่บริเวณคลอง 2 ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง

โดยจะมีศูนย์ซ่อมบำรุงเนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ อาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง บริเวณถนนพหลโยธินกิโลเมตรที่ 25 และคลอง 2 ซึ่งบริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงนี้ ทาง รฟม.ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จะพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้า

สำหรับสถานีมี 16 สถานี ประกอบด้วย 1.สถานีห้าแยกลาดพร้าว 2.สถานีพหลโยธิน 24 3.สถานีรัชโยธิน 4.สถานีเสนานิคม 5.สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 6.สถานีกรมป่าไม้ 7.สถานีบางบัว 8.สถานีกรมทหารราบที่ 11 9.สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ 10.สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ 11.สถานีสายหยุด 12.สถานีสะพานใหม่ 13.สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 14.สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ 15.สถานี กม.25 และ 16.สถานีคูคต

ราคาใหม่ดันเวนคืนพุ่ง 120%

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรอบวงเงินลงทุนงานโยธาที่ ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา มีวงเงินรวม 38,165 ล้านบาท แยกเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ 7,863 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 15 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 1,062 ล้านบาท ค่างานโยธา 26,569 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 2,656 ล้านบาท

โดยหลัก ๆ วงเงินที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าเวนคืนที่ดิน เทียบจากฐานปี 2551-2552 อยู่ที่ 4,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 7,863 ล้านบาท เนื่องจากย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงจากสนามบินดอนเมือง (พหลโยธิน 50) ไปอยู่ที่ลำลูกกาคลอง 2 และราคาประเมินรอบปี 2555-2558 ปรับขึ้น 120% หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากประมาณการราคาซื้อขาย

ส่วนการเวนคืนที่ดินพบว่า มีที่ดินต้องเวนคืนตามแนวเส้นทางคือ จุดขึ้น-ลงสถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดแล้วจร รวม 262 แปลง รวมเป็นอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อถอนประมาณ 275 หลัง

ขณะที่ระบบรถไฟฟ้าจะเป็นรถเฮฟวี่เรลเหมือนที่วิ่งบริการปัจจุบัน วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในปีแรกเปิดให้บริการจะใช้รถไฟฟ้าจำนวน 17 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ คาดว่าจะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 185,200 คน/วัน ค่าโดยสารเริ่มต้น 13 บาท จากนั้นจัดเก็บเพิ่มในอัตรากิโลเมตรละ 2 บาท




ครม.ไฟเขียว รฟม.เปิดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม เชื่อมจากหมอชิต-คูคต 2.65 หมื่นล้าน คาดเปิดประมูล ธ.ค.นี้ ก่อสร้าง 4 ปี เปิดใช้ได้ มิ.ย. 61 ด้านคลังแนะเจรจา กทม.และ BTS เชื่อมต่อเดินทางจากหมอชิต และระบบตั๋วร่วม

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (15 ต.ค.) มีมติเห็นชอบให้ รฟม.ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19.5 กิโลเมตร ในวงเงินค่างานก่อสร้างงานโยธา 26,569 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provision Sum) อีก 2,656 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ รฟม.จะเร่งจัดทำเอกสารประกวดราคา และขั้นตอนการประกวดราคาจัดหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการ โดยคาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ประมาณเดือนธันวาคม 2556 และก่อสร้างในปี 2557 ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี

โดยแบ่งงานเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย 1. สัญญาก่อสร้างช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กิโลเมตรวงเงิน 14,207 ล้านบาท 2. สัญญาก่อสร้งาช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร วงเงิน 6,115 ล้านบาท 3. สัญญาก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและพื้นที่จอดรถไฟฟ้า (Detpo)วงงิน 3,638 ล้านบาท และ 4. สัญญาระบบราง วงเงิน 2,609 ล้านบาท

ด้านนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำนำสักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังได้อนุติให้รฟม.ยกเว้นการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และให้เปิดประกวดราคาแบบนานาชาติ พร้อมให้ รฟม.จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการวงเงิน 7,863 ล้านบาท และกรอบวงเงินค่าจ้างงานสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 15 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังให้ว่าจ้างที่ปรึกษาบริหารควบคุมงานก่อสร้างงานโยธาในวงเงิน 1,062 ล้านบาทด้วย

โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า การจัดหาเงินเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ได้กำหนดอยู่ใน พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท คาดว่าหากเริ่มกระบวนการก่อสร้างในปี 57 จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2561 ขณะที่ผลการวิเคราะห์รายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ จากการประมาณการจำนวนผู้โดยสารในปีที่จะเปิดให้บริการ โดยคิดอัตราแรกเข้าที่ 13 บาท และคิดอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2 บาทต่อกิโลเมตร จะมีผู้ใช้บริการ 185,000 คนต่อวัน มีอัตราค่าตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ 15.4% โดยเส้นทางการก่อสร้างรถไฟสายสีเขียวนั้น จะต่อเนื่องจากบีทีเอสสถานีหมอชิต ไปตามแนวถนนพหลโยธิน ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่ายแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงซอยพหลโยธิน 55 เบี่ยงไปเลียบถนนฝั่งซ้ายวงเวียนหลักสี่ กลับมาแนวเกาะกลางถนนพหลโยธิน ผ่านหน้าตลาดยิ่งเจริญ ผ่านสถานีตำรวจภูธรคูคต และสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า เส้นทางการก่อสร้างดังกล่าวเป็นส่วนต่อขยายของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร หรือรถไฟฟ้า BTS โดยกระทรวงคมนาคมควรเร่งเจรจากับกรุงเทพมหานคร และมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นผู้ลงทุน เพื่อกำหนดแนวทางการเชื่อมต่อการเดินรถ ทั้งโครงสร้างกายภาพและระบบตั๋วร่วม โครงสร้างอัตราค่าโดยสาร และส่วนแบ่งรายได้ขณะที่งานโยธา ค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องภาครัฐจะเป็นผู้รับภาระการลงทุนทั้งหมดด้วย


ขอขอบคุณแหล่งที่มาข่าว:
http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000129519
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1382368152#