ขยายระยะเวลาดำเนินการ “โครงการบ้าน ธอส. เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก (0% 3 ปี)”
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้กู้เงินของโครงการนี้
- คุณสมบัติผู้กู้
- มีความต้องการที่อยู่อาศัยแห่งแรกเป็นของตนเอง และผู้กู้ต้องย้ายชื่อเข้าเป็น "เจ้าบ้าน" และอยู่อาศัยจริงในที่อยู่อาศัยที่ขอกู้ตามโครงการนี้
- ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง
- ไม่มีชื่อเป็นหรือเคยเป็น "เจ้าบ้าน" ในทะเบียนบ้านที่นํามาแสดงเป็นหลักฐานการยื่นกู้กับธนาคาร และต้องมีชื่อเป็น "ผู้อาศัย" ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 3 ปี ยกเว้นถ้าพิสูจน์ได้ว่า ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้านนั้น
หมายเหตุ : พนักงาน/พนักงานสัญญาจ้าง/ลูกจ้างของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ไม่มีสิทธิกู้เงินตามโครงการนี้
- เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุด
- เพื่อปลูกสร้างอาคาร หรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร
นิยามคําว่า "อาคาร" หมายถึง บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์เพื่อที่อยู่อาศัย
- วงเงินให้กู้
- ที่ดินและสิ่งก่อสร้างในวงเงินไม่เกินในวงเงินไม่เกินรายละ 1,000,000 บาท
- ไม่เกินร้อยละ 100 ของราคาประเมินที่ดินพร้อมอาคารหรืออาคารหรือห้องชุด และไม่เกินร้อยละ 100 ของราคาซื้อขายหรือราคาก่อสร้าง ทั้งนี้ ไม่เกินเกณฑ์หลักประกันตามระเบียบปกติของธนาคาร
- ระยะเวลากู้
- ไม่เกิน 30 ปี และอายุผู้กู้หลักที่ใช้สิทธิรวมกับจํานวนปีที่ขอกู้ต้องไม่เกิน 65 ปี
- อัตราดอกเบี้ย
- ปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 = 0.00% ต่อปี
- ปีที่ 3 ถึงปีที่ 7
- กรณีสวัสดิการ = MRR - 0.50% ต่อปี
- กรณีรายย่อย = MRR
- ปีที่ 8 เป็นต้นไป
- กรณีสวัสดิการ = MRR - 1.00% ต่อปี
- กรณีรายย่อย = MRR - 0.50% ต่อปี
- หลักประกัน ที่ดินพร้อมอาคารที่มีเอกสารเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3ก. หรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
- การหมดสิทธิอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0% ตามโครงการ
- กรณีผู้กู้ชําระหนี้ปิดบัญชีหรือไถ่ถอนจํานองภายในระยะเวลา 7 ปี นับจากวันทําสัญญากู้เงิน
จะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใน 3 ปีแรก เป็นอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารย้อนหลัง
นับแต่วันทําสัญญากู้เงิน
- กรณีตรวจสอบพบภายหลังว่า หลักประกันที่ขอกู้ตามโครงการนี้ ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยแห่งแรก
ของผู้กู้ จะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใน 3 ปีแรก เป็นอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคาร
ย้อนหลังนับแต่วันทําสัญญากู้เงิน
- เงื่อนไขอื่น
- กำหนดวงเงินปล่อยกู้ตามโครงการไม่เกิน 20,000 ล้านบาท
- การพิจารณาให้กู้เงินและเงื่อนไขอื่นๆ รวมถึงผิดนัดชำระหนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติ และระเบียบปฏิบัติงานสินเชื่อของธนาคาร
- กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ
- ผู้ยื่นกู้ติดต่อคำขอกู้เงินได้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2556 และต้องทำทํานิติกรรมกับธนาคารให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2556
- ธนาคารสงวนสิทธิ์ในการกําหนดระยะเวลาสิ้นสุดโครงการก่อนกําหนด หากธนาคารให้สินเชื่อเต็มวงเงินของโครงการแล้ว
หมายเหตุ ธนาคารขอสงวนสิทธิ์สำหรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า อัตราดอกเบี้ย MRR เป็นไปตามระเบียบธนาคาร ณ วันทำนิติกรรม
ธอส.ยืดโครงการบ้านหลังแรก
ลากอีก6เดือนถึงสิ้นมี.ค.56
ไม่ถึง1ล้านรับดบ.0%3 ปี
|
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส) |
ธอส.ขยายโครงการบ้านหลังแรกออกไปอีก 6 เดือน เหตุความต้องการยังเยอะ ยืนเงื่อนไขเดิม ดอกเบี้ย 0% 3 ปี ยันไม่ปรับมูลค่าบ้านเพิ่มจาก 1 ล้านบาท รอชงคลังเสนอ ครม.เห็นชอบ
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา มีมติให้ขยายระยะเวลาโครงการบ้านหลังแรกออกไปอีก 6 เดือน คือ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2556 จากที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ และต้องโอนภายในวันที่ 31 ธันวาคมปีนี้
ภายใต้เงื่อนไขเดิมคือมูลค่าบ้านไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3 ปี เพราะส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท รัฐบาลต้องการให้ไปใช้สิทธิทางภาษี เพื่อคนจะได้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีด้วย สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านที่มีมูลค่าสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท
และจะได้รับสิทธิภาษี 10% หรือสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท
นายวรวิทย์กล่าวว่า วันที่ 24 กันยายน ธนาคารจะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป คาดว่าน่าจะเสนอภายใน 2 สัปดาห์นี้ เพราะยังมีประชาชนอีกมากที่ยังต้องการเข้าโครงการ แต่บ้านส่วนใหญ่ถูกน้ำท่วมช่วงปลายปี 2554 กว่าจะสร้างเสร็จต้องใช้เวลา ทำให้ขณะนี้มียอดผู้มาเข้าร่วมโครงการประมาณ 5.8 พันล้านบาท และเมื่อปิดโครงการน่าจะถึง 7 พันล้านบาท เมื่อรวมกับการโอนถึงสิ้นปีนี้ยอดน่าจะถึง 7.5 พันล้านบาท แต่ธนาคารตั้งเป้าหมายโครงการไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท จากโครงการรวมทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านบาท
สำหรับโครงการสินเชื่อบ้าน ธอส.-ธปท.เพื่อผู้ประสบภัย นายวรวิทย์กล่าวว่า ธนาคารได้ยื่นเสนอขอวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพิ่มเติมจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีก 1 หมื่นล้านบาท แต่เท่าที่ทราบขณะนี้วงเงิน 3 แสนล้านบาท ของ ธปท.ได้จัดสรรให้สถาบันการเงินหมดแล้วและไม่มีรายใดส่งคืนกลับมา ดังนั้น จะไม่มีโครงการดังกล่าวเพิ่มเติมอีก ส่วนที่ดำเนินการไปแล้วคาดว่าประมาณ 1-2 เดือน ผู้ยื่นขอกู้จะได้สินเชื่อเกือบหมด จากวงเงินรวม 2.9 หมื่นล้านบาท
นายวรวิทย์กล่าวถึงช่วง 2 ปีของการเป็นกรรมการผู้จัดการ ธอส.ว่า สามารถเพิ่มสินทรัพย์ของธนาคารจาก 6.7 แสนล้านบาท เป็น 7.2 แสนล้านบาท มีการเพิ่มจำนวนสาขาจาก 120 แห่งเป็น 160 แห่ง และสิ้นปีนี้น่าจะถึง 185 แห่งได้ ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเอ็นพีแอลที่ไม่รวมหนี้ส่วนต่างจาก 8.5% ช่วงเข้ามารับตำแหน่งปีที่แล้วลดเหลือ 7.12% และปีนี้เหลือเพียง 6.8% ขณะที่กำไรสุทธิสิ้นปีนี้คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านบาท จากปี 2554 มีกำไรสุทธิ 6.99 พันล้านบาท ทั้งที่ธนาคารสูญเสียรายได้ไป 1.5 พันล้านบาท จากมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้วยการงดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน รวม 1.2 แสนบัญชี คิดเป็นเงินสินเชื่อ 7 หมื่นล้าบาท
เครดิต: http://www.matichon.co.th
http://www.ghbhomecenter.com
รายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์บ้านหลังแรก
ครม. เปิดแพ็คเกจใหม่ บ้านสำหรับคนรายได้น้อย วงเงินไม่เกิน 1 ล้าน ดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3 ปี ส่วนแพ็คเกจบ้านหลังละ 2 ล้าน รอเสนออีกสัปดาห์หน้า
วานนี้ (27 กันยายน) คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการบ้านหลังแรกแล้ว ด้วยแพ็คเกจใหม่"กำหนดวงเงินไม่เกิน 1 ล้าน ดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3 ปี" ส่วนบ้านราคาหลังละ 2 ล้านบาท ทาง ครม.ให้กระทรวงการคลังกลับไปดูรายละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ โครงการบ้านหลังแรกขณะนี้มี 2 แพ็คเกจให้เลือก ได้แก่...
แพ็คเกจที่ 1 สำหรับผู้มีรายได้น้อย บ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3 ปี
แพ็คเกจที่ 2 สำหรับผู้มีรายได้มาก บ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งสามารถหักเงินหลังจากคำนวณภาษีเสร็จแล้ว ในระยะเวลา 5 ปี ตกปีละไม่เกิน 100,000 บาท
ขณะที่โครงการรถยนต์คันแรก ยังไม่มีข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม เนื่องจากยังต้องปรับปรุงรายละเอียดให้รอบคอบและครอบคลุมกว่านี้
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยหลังจากการประชุม ครม.ว่า ทางกระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยให้ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้ระดับกลาง และต่ำลงมา มูลค่าบ้านไม่เกินหลังละ 1 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3 ปี ทั้งนี้ทางรัฐบาลจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ 3 ใน 4 ของดอกเบี้ยทั้งหมด หรือประมาณ 300 ล้านบาท
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่ออีกว่า ถ้าต้องการจะขยายเพิ่มเป็นวงเงิน 2 ล้านบาท ต้องรอให้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดูรายละเอียดเรื่องงบประมาณเพิ่มเติมก่อน ว่าจะกระทบต่องบประมาณที่ต้องชดเชยมากน้อยเพียงใด เนื่องจากทางรัฐบาลจะต้องชดเชยให้กับทาง ธอส. ด้วย จึงต้องนำเรื่องกลับมาพิจารณาอีกครั้งก่อนที่จะนำเสนอ ครม. อีกครั้งในสัปดาห์หน้านายวิรุฬ ยังกล่าวอีกว่า จากมาตรการเดิมที่ให้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีได้ 10% หรือไม่เกิน 500,000 บาท ของมูลค่าบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท ขณะนี้ทางที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงใหม่ เป็นหักเงินโดยตรงจากภาษีที่ต้องเสีย ซึ่งเป็นการหักหลังจากที่คำนวณภาษีเสร็จแล้ว ในระยะเวลา 5 ปี ตกปีละไม่เกิน 100,000 บาททางด้าน น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า
โครงการบ้านหลังแรกนั้น อาจจะมีผลกระทบต่อการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร อีก 5 ปี วงเงินภาษีรวมประมาณ 12,000 ล้านบาท หรือปีละประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งมาตรการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้ประชาชนที่ต้องการมีบ้านหลังแรกแล้ว ยังมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจรวมทั้งหมด ในการส่งเสริมให้ผู้มีเงินได้เข้าสู่ระบบภาษีด้วย
ขณะเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงประเด็นที่ฝ่ายค้านเตรียมยืนที่จะถอดถอน ในมาตรการคืนภาษีบ้านหลังแรกว่า นโยบายบ้านหลังแรก เป็นนโยบายที่ต้องการให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่ซื้อบ้านจริง ๆ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ และไม่คิดว่าโครงการดังกล่าวจะให้ประโยชน์กับใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อดูรายละเอียดอย่างชัดเจนจะเห็นว่า โครงการนี้มีความเสมอภาค และประชาชนเป็นผู้ที่ได้รับภาษีคืน ไม่ใช่ผู้ขาย
เปิดหลักเกณฑ์ บ้านหลังแรก เงินเดือนต่ำกว่า 2 หมื่น หมดสิทธิ์
โครงการบ้านหลังแรกเริ่ม 22 ก.ย.นี้ คนเงินเดือนต่ำกว่า 2 หมื่น หมดสิทธิ์ ภาคอสังหาฯ ชี้มาตรการนี้ช่วยคนไม่กี่คน ยิ่งรวยยิ่งได้ประโยชน์
วานนี้ (20 กันยายน) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือโครงการบ้านหลังแรก ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอ โดยนำค่าใช้จ่ายในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ พร้อมที่ดิน หรืออาคารห้องชุดที่เป็นที่อยู่อาศัย มาหักลดหย่อนภาษีตามจำนนวนที่จ่ายจริง ในอัตราไม่เกิน 10 % ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยให้ทยอยหักภาษี ในจำนวนปีละเท่า ๆ กัน เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 กันยายนนี้ เป็นต้นไป
สำหรับหลักเกณฑ์โครงการบ้านหลังแรก มีดังต่อไปนี้
1. ผู้มีเงินเดือน 20,000 บาทขึ้นไป
2. ต้องเป็นบ้านใหม่ หรือคอนโดมิเนียมใหม่ ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ไม่นับรวมที่อยู่อาศัยสร้างเอง หรือบ้านมือสอง
3. ให้นำค่าใช้จ่ายที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ มาหักลดหย่อนภาษีได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
4. ผู้มีเงินได้มีสิทธิยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปีเป็นเวลา 5 ปีภาษีต่อเนื่องกัน ตามจำนวนที่จ่ายจริง
5. การยกเว้นภาษีจะใช้วิธีการหักค่าลดหย่อน ซึ่งผู้มีเงินได้สามารถเลือกใช้สิทธิ์ครั้งแรกสำหรับเงินได้ในปีที่ได้โอนกรรมสิทธิ์หรือปีถัดไปก็ได้ โดยสามารถหักเป็นค่าลดหย่อนได้ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 ปี
6. ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แล้วเสร็จ ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555
7. ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน
8. ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องไม่เคยผ่านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
ทั้งนี้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตนขอยืนยันว่ามาตรการบ้านหลังแรกในครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำตามสัญญาที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ และยืนยันว่าประชาชนทุกคนได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีเท่ากันหมดถ้าอยู่ในระบบภาษี ส่วนผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี หรือเงินเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท ก็สามารถขอใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีในปีถัดไปได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณภาษีในปี 55 แต่อย่างใด
รมช.คลัง ยังกล่าวอีกว่า มาตรการนี้เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยและยังไม่เคยมีบ้านหรือมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน และยืนยันว่าไม่ได้ช่วยเหลือภาคธุรกิจอสังหาริมทรัย์ เพราะถ้าทางรัฐบาลต้องการช่วยเหลือจริงจะไม่กำหนดวงเงินของบ้านหลังละไม่เกิน 5 ล้านบาทอย่างแน่นอน
ภาคอสังหาฯ ชี้ บ้านหลังแรก ยิ่งรวยยิ่งได้ประโยชน์
นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึงมาตรการลดภาษีบ้านหลังแรกว่า มาตรการนี้ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดการซื้อ-ขายบ้านหรือคอนโดมิเนียมมากนัก เพียงแต่จะช่วยให้ผู้บริโภคที่ชะลอการซื้อบ้านก่อนหน้านี้ ตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น เพราะได้ทราบรายละเอียดของโครงการแล้ว ซึ่งในส่วนนี้คนที่ได้ประโยชน์จะเป็นคนรายได้สูงตามฐานภาษีของแต่ละคน ถ้ารายได้ต่ำเมื่อคำนวณภาษีบุคคลธรรมดา และหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว โดยปกติก็ไม่ต้องเสียภาษีอยู่ดี
ขณะที่ นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวสอดคล้องกันว่า มาตรการบ้านหลังแรกของรัฐบาลชุดนี้ มีผู้ได้รับประโยชน์ไม่มากนัก ซึ่งจากข้อมูลกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านหลังแรกที่แท้จริงนั้น ส่วนใหญ่ซื้อราคาเฉลี่ยประมาณ 1.5 ล้านบาท และผู้ซื้อส่วนใหญ่มีรายได้ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น จึงหักลดหย่อนได้น้อยมาก เพราะเมื่อนำค่าใช้จ่ายมาหักรายได้ต่อปีแล้วไม่เกิน 150,000 บาท ก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีอยู่แล้ว
สำหรับคนที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรดังกล่าวนั้น นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ต้องเป็นคนที่มีรายได้สุทธิเกิน 150,000 บาทต่อปี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานภาษีที่จ่ายด้วย หากรายได้สุทธิอยู่ที่ 150,000-500,000 บาท หรือเฉลี่ยรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 50,000 บาท จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตรา 10% ดังนั้นเมื่อรัฐบาลให้ลดหย่อน 10% ของราคาบ้าน หากบ้านราคา 2 ล้านบาท ก็จะลดหย่อนได้ 200,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี หรือเท่ากับปีละ 40,000 บาท ซึ่งเมื่อหักลดหย่อนภาษีบุคคลที่เสียอยู่ ก็เท่ากับว่าได้ลดภาษีประมาณ 4,000 บาทต่อปีเท่านั้น หรือหากซื้อบ้านราคา 5 ล้านบาท เท่ากับนำมาหักลดหย่อนปีละ 100,000 บาท ซึ่งคนระดับนี้จะต้องมีรายได้สูงปีละประมาณ 4 ล้านบาทขึ้นไป และต้องจ่ายภาษีปีละประมาณ 37% ของเงินได้พึงประเมิน ก็เท่ากับว่าหักภาษีได้แค่ 37,000 บาท
นอกจากนี้ นายอิสระ ยังบอกด้วยว่า มาตรการที่ช่วยคนซื้อบ้านหลังแรกได้อย่างแท้จริง คือเรื่องอัตราดอกเบี้ย 0% ซึ่งเท่ากับว่ามาตรการของรัฐบาลชุดก่อนดีกว่า เพราะช่วยคนได้เป็นวงกว้างมากกว่า และเป็นการช่วยคนที่ควรช่วย เพราะคนรายได้สูงนั้นน่าจะมีบ้านหลังแรกกันไปหมดแล้ว
ทางด้านนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้สิทธิยกเว้นภาษีดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร ประมาณ 1,700 ล้านบาท แต่ผลของมาตรการดังกล่าวยังทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ข้อมูลจาก http://hilight.kapook.com/view/58511