บริการรับฝากขาย-เช่าที่ดิน บ้าน คอนโด ทำโฆษณาให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โทร 082-515-9893

ร่างผังเมืองใหม่ กทม. บูมตัดถนน 140 สาย




กทม.การันตี "กรุงเทพฯ" ไม่เป็นสุญญากาศ ดีเดย์ 15 พ.ค.นี้ ร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ประกาศใช้ชัวร์ หนุนนำเมืองหลวงเป็นกรีนซิตี้ ลดโลกร้อน แจกแหลกโบนัสพัฒนาพื้นที่ ผุด 5 ศูนย์ชุมชนชานเมืองเกาะแนวถนนวงแหวนรอบนอก-รถไฟฟ้าหลากสี จับตา 5 ทำเลเด่น "พระรามที่ 2-มีนบุรี-รามอินทรา-ร่มเกล้า-ตลิ่งชัน"

นายเกรียงพล พัฒนรัฐ ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ยืนยันว่าร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) จะมีผลบังคับใช้ทัน 15 พฤษภาคมนี้แน่นอน ล่าสุดอยู่ระหว่างเสนอเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง จากนั้นเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในวันที่ 7 เมษายนนี้ และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามตามขั้นตอน

"ดูเงื่อนไขเวลาแล้วสามารถออกประกาศทัน 15 พฤษภาคมนี้ เพื่อให้เกิดเร็วขึ้น เราทำงานคู่ขนานกันสำหรับขั้นตอนเสนอ ครม.และคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าขั้นตอนจะเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน เพราะหากไม่รีบดำเนินการจะทำให้กรุงเทพฯไม่มีผังเมืองใช้ และเกิดภาวะสุญญากาศได้"

สำหรับภาพรวมผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับใหม่ หน้าตาของสีผังเมืองจะไม่ต่างจากผังเมืองรวมฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้เมื่อปี 2549 มีการปรับปรุงเล็กน้อย เช่น บริเวณนอร์ธปาร์ค ปรับจากเดิมสีเขียว เป็นสีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) บริเวณใกล้ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จากเดิมเป็นสีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) ให้เป็นพื้นที่สีส้ม เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเพิ่มข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดรับกับสภาพเมืองปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีรถไฟฟ้าสายใหม่เพิ่ม มีการสร้างศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ และที่อยู่อาศัยมากขึ้น

"คอนเซ็ปต์ผังเมืองฉบับใหม่จะเน้นเรื่องภาวะโลกร้อนให้กรุงเทพฯ เป็นกรีนซิตี้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวและประหยัดพลังงาน ให้พื้นที่ชั้นในเป็นเมืองที่คอมแพ็กต์ จะสร้างศูนย์ชุมชนชานเมืองหรือซับเซ็นเตอร์ในรัศมีใกล้ถนนวงแหวนรอบนอกทั้งตะวันตกและตะวันออกมารองรับการขยายตัวของพื้นที่ชั้นในให้กระจายตัวไปออกไปมากขึ้น รวมถึงให้เป็นผังเมืองรวมที่กำหนดแนวทางจะรับมือกับภัยพิบัติ หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554" นายเกรียงพลกล่าวและว่า



เพิ่มขนาดถนน-ระยะถอยร่น

สำหรับข้อแตกต่างร่างผังเมืองใหม่กับผังเมืองปัจจุบัน ประกอบด้วย 1.เพิ่มแผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค เช่น จะมีทั้งโครงการปรับปรุง-ขยายคลองระบายน้ำสายต่าง ๆ โครงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ โครงการขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ เพื่อแสดงให้ชาวบ้านได้รู้ว่าตรงไหนควรจะสร้างที่อยู่อาศัยได้ จุดไหนจะเป็นทางไหลผ่านของน้ำ จะได้ไม่ไปสร้างสิ่งกีดขวางระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ที่ผ่านมา

2.เพิ่มการควบคุมกิจกรรมที่ขัดต่อสุขลักษณะ 5 กิจกรรม เช่น สนามแข่งรถ สนามแข่งม้า สนามยิงปืน

3.ยกเลิกการกำหนดร้อยละของกิจกรรมรอง

4.เปลี่ยนเกณฑ์จำแนกประเภทอาคาร จากเดิมใช้ตามกฎหมายความคุมอาคาร เช่น อาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ในร่างใหม่จะจำแนกตามขนาดพื้นที่การประกอบกิจกรรม ได้แก่ ไม่เกิน 1,000-2,000-10,000 ตารางเมตร และเกินกว่า 10,000 ตารางเมตร

5.เปลี่ยนเงื่อนไขการสร้างอาคารที่อยู่ในเขตทางถนนสาธารณะ เพิ่มระยะการใช้ประโยชน์ที่ดินตามความกว้างถนนใหม่ ได้แก่ ถนนขนาดไม่น้อยกว่า 12 เมตร มีระยะถอยร่น 200 เมตร ถนน 16 เมตร ระยะถอยร่น 300 เมตร และถนน 30 เมตร ระยะถอยร่น 300 เมตร

6.เพิ่มข้อกำหนดให้มีพื้นที่น้ำซึมผ่านได้เพื่อปลูกต้นไม้ 50% ของอัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (0SR)

แจกโบนัส 20% จูงใจเอกชน

7.เพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เจ้าของที่ดิน ด้วยการให้โบนัสไม่เกิน 20% ในการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่สร้างอาคารใหม่ เป็นการเพิ่มนอกเหนือจากได้โบนัสในรัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้าแล้ว


โดยมีเงื่อนไขว่า

1.จะต้องจัดให้มีพื้นที่รับน้ำในแปลงที่ดินที่ขออนุญาต กักเก็บน้ำได้ไม่น้อยกว่า 1 ลูกบาศก์เมตรต่อที่ดิน 50 ตารางเมตร จะได้โบนัสสร้างพื้นที่อาคารใหม่ได้ไม่เกิน 5% หากมากกว่า 1 ลูกบาศก์เมตรได้โบนัสไม่เกิน 20%

2.จัดให้มีอาคารประหยัดพลังงาน (กรีนบิลดิ้ง) ตามมาตรฐานมูลนิธิอาคารเขียวที่ไทยรองรับ แยกเป็นระดับที่ 1 (Certified) ได้โบนัสไม่เกิน 5% ระดับที่ 2 (Silver) ได้ไม่เกิน 10% ระดับที่ 3 (Gold) ไม่เกิน 15% และระดับที่ 4 (Platinum) ไม่เกิน 20%

3.จัดให้มีที่จอดรถยนต์โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าทั้งใต้ดิน บีทีเอส แอร์พอร์ตลิงก์ สายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) เช่น สถานีศูนย์วัฒนธรรม สถานีอ่อนนุช สถานีลาดกระบัง สถานีหัวหมาก สถานีบางบำหรุ สถานีตลิ่งชัน สถานีอุดมสุข สถานีแบริ่ง สำหรับคนทั่วไปเพิ่มขึ้นจากจำนวนที่จอดรถยนต์ของอาคารสาธารณะ มีโบนัสสร้างอาคารเพิ่มได้ไม่เกิน 20%

4.จัดให้มีพื้นที่สาธารณะ หรือสวนสาธารณะบนพื้นที่ดินประเภทสีแดง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) "ย.8-ย.10" พื้นที่สีแดง (พาณิชยกรรม) "พ.1-พ.5" เจ้าของที่ดินจะได้โบนัสเพิ่มไม่เกิน 20% 5.สร้างที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่าท้องตลาดสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือผู้อาศัยเดิมภายในพื้นที่โครงการ

ผุด 5 ศูนย์ชุมชนชานเมือง

นายเกรียงพลกล่าวอีกว่า สำหรับซับเซ็นเตอร์หรือศูนย์ชุมชนชานเมืองที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวมฉบับใหม่ จะเป็น เมืองรองรับการขยายตัวของพื้นที่ชั้นในออกมายังพื้นที่แนววงแหวนรอบนอกและรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะพาดผ่าน เพื่อลดการเดินทางเข้าไปในเมือง

ทั้งนี้ มี 5 แห่งที่เป็นพื้นที่มีศักยภาพ เช่น ย่านตลิ่งชันบริเวณถนนฉิมพลี อยู่ในแนวรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ย่านมีนบุรีใกล้ตลาดมีนบุรี แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีส้มมาบรรจบกัน ย่านพระรามที่ 2 ใกล้กับถนนวงแหวนรอบนอก ย่านร่มเกล้าในแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู และย่านถนนรามอินทราใกล้จุดตัดถนนรัชดา-รามอินทรา แนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู

นอกจากนี้ จะเพิ่มการขยายตัวของย่านพาณิชยกรรมรอง ส่งเสริมในบางพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า การบริการ และนันทนาการ เช่น ย่านถนนเกษตร-นวมินทร์ บริเวณนวมินทร์ อเวนิวที่มีการสร้างคอมมิวนิตี้มอลล์อยู่หลายแห่ง, บริเวณศูนย์การค้าซีดีซี (คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์) ตรงเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา, แยกบางนาที่มีโครงการเมกะบางนาเข้าไปพัฒนารอไว้แล้ว เป็นต้น

นายเกรียงพลกล่าวอีกว่า สำหรับผังแสดงโครงข่ายคมนาคมนั้น ในรายละเอียดจะมีการกำหนดแนวเส้นทางรถไฟฟ้า 12 สายทาง ตามแผนแม่บทของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และแนวเส้นทางถนน 140 สาย มีทั้งขยายถนนเดิมและแนวตัดถนนใหม่

ที่มา:นสพ.ประชาชาติ