บริการรับฝากขาย-เช่าที่ดิน บ้าน คอนโด ทำโฆษณาให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โทร 082-515-9893

แผนลงทุนรถไฟฟ้าสีชมพูใหม่ สนามบินน้ำ-มีนบุรี


"จารุพงศ์" สั่งทบทวนแผนลงทุนรถไฟฟ้าสีชมพูใหม่ทั้งเส้น เหตุเพราะความเจริญในพื้นที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก ชี้แนวเส้นทางคงเดิม แต่จำนวนสถานีเพิ่มจาก 24 เป็น 30 สถานี "สนามบินน้ำ-มีนบุรี" ได้เฮมีที่จอดรถรวม 1.1 พันคัน

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทบทวนผลการศึกษาเดิมเมื่อปี 2552 โดยสรุปภาพรวมมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมพอสมควร จะเปลี่ยนระบบเดินรถเป็นโมโนเรล (รถไฟฟ้ารางเดี่ยว) วงเงินลงทุนจะถูกกว่ารถไฟฟ้าเฮฟวี่เรล (รถไฟฟ้าขนาดหนัก) ประมาณ 10,000 ล้านบาท

"ผมให้ รฟม.เดินหน้าโครงการนี้โดยเร็วแบบโมโนเรล เพราะผ่านสิ่งแวดล้อมแล้ว หากกลับไปเป็นเฮฟวี่เรลอีกจะเสียเวลาถึง 4 ปี"

นายจารุพงศ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มสถานีใหม่อีก 6 สถานี จากเดิม 24 เป็น 30 สถานี โดยปรับตำแหน่งที่ตั้งสถานีให้สั้นลงเฉลี่ยประมาณ 1.2 กิโลเมตรต่อสถานี รวมถึงวงเงินก่อสร้างที่จะเพิ่มขึ้น เพราะมีการเพิ่มสถานีใหม่



คงแนวเส้นทางเดิม


แหล่งข่าวจาก รฟม.เปิดเผยว่า รฟม. ได้จัดจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้งฯ วงเงินกว่า 30 ล้านบาท ศึกษาความเหมาะสมอีกครั้งโดยไม่ได้แตะแนวสายทางรูปแบบก่อสร้าง ยังคงเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นคงเดิมที่จุดเชื่อมต่อกับแนวเส้นทางรถไฟสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ด้านหน้าศูนย์ราชการนนทบุรี แนวรถไฟฟ้าจะเลี้ยวซ้ายแยกแครายเข้า ถ.ติวานนท์ วิ่งไปตามเกาะกลางถนน เลี้ยวขวาที่แยกปากเกร็ดเข้า ถ.แจ้งวัฒนะ ผ่านทางด่วนขั้นที่ 2 แยกหลักสี่ ผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่ ตรงเข้า ถ.รามอินทรา ถึงแยกมีนบุรีตรงเข้าตัวเมืองมีนบุรี ตาม ถ.สีหบุรานุกิจ ไปสิ้นสุดทางแยก ถ.ร่มเกล้า รวมระยะทาง 34.5 กม.

ขยับจุด-เพิ่มใหม่ 6 สถานี


แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้มีการขยับตำแหน่งสถานีเดิมและเพิ่มสถานีใหม่อจากเดิมมี 24 สถานีจะเพิ่มเป็น 30 สถานี พร้อมที่จอดรถ 2 สถานีคือ สนามบินน้ำ 48 ไร่ จอดรถ 225 คัน และมีนบุรี 50 ไร่ อาคารจอดรถ 9 ชั้นสำหรับจอดรถ 1,500 คัน

รายละเอียดสถานี ได้แก่ 

1) สถานีศูนย์ราชการ จ.นนทบุรี อยู่บน ถ.รัตนาธิเบศร์ หน้าศูนย์ราชการ จ.นนทบุรี 


2) สถานีแคราย ขยับจากเดิมมาอยู่บริเวณใกล้กับโรงพยาบาลทรวงอกนนทบุรี ระหว่างซอยติวานนท์ 13 และซอยติวานนท์ 15 รองรับแหล่งชุมชน โรงพยาบาล และตลาดมากขึ้น

3) สถานีสนามบินน้ำ ขยับจากเดิมมาอยู่หน้ากรมพลาธิการทหาร ใกล้ทางแยกถนนสนามบินน้ำ ระหว่างแยก ถ.สนามบินน้ำและซอยติวานนท์ 35 รองรับผู้โดยสารจากสนามบินน้ำ 4) สถานีสามัคคี ขยับจากเดิมไปทางซอยติวานนท์ 52 ก่อนแยกเข้า ถ.สามัคคี ให้ใกล้กับแหล่งชุมชนมากขึ้น

5) สถานีกรมชลประทาน ขยับจากเดิมมาใกล้กับโรงเรียนชลประทานวิทยา ระหว่างซอยติวานนท์ 4 และซอยติวานนท์ 6 เพื่อรองรับผู้โดยสารจากโรงพยาบาลชลประทาน กรมชลประทาน และโรงเรียนชลประทานวิทยาคม 6) สถานีปากเกร็ด ขยับจากตำแหน่งเดิมไปอยู่ระหว่างทางห้าแยกปากเกร็ดกับห้างคาร์ฟูร์ แจ้งวัฒนะ รองรับผู้โดยสารจากชุมชนห้าแยกปากเกร็ด

7) สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ขยับจากเดิมมาใกล้แยก ถ.เลี่ยงเมืองปากเกร็ดตัดกับ ถ.แจ้งวัฒนะ มาบริเวณมีพื้นที่ว่างที่จะสามารถสร้างอาคารจอดแล้วจรได้

8) สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 เป็นสถานีใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามา อยู่บริเวณใกล้กับกระทรวงยุติธรรม รองรับผู้โดยสารจากซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 และหมู่บ้านสวัสดิการ กทม.

9) สถานีเมืองทองธานี (ม.สุโขทัย) ขยับใหม่ให้อยู่ใกล้ถนนเข้าเมืองทองธานี และสะพานข้ามทางแยกเมืองทองธานี

10) สถานีศรีรัช อยู่บริเวณใกล้ทางด่วนศรีรัช 11) สถานีเมืองทอง 1 ใกล้กับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และห้างบิ๊กซี แจ้งวัฒนะ 12) สถานีศูนย์ราชการ 1 ใกล้กรมการกงสุล ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 9 กับซอยแจ้งวัฒนะ 7

13) สถานีศูนย์ราชการ 2 เป็นสถานีใหม่เพิ่มเติม อยู่ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 และซอยแจ้งวัฒนะ 7 รองรับผู้โดยสารที่เข้าศูนย์ราชการ 14) สถานีหลักสี่ อยู่บริเวณใกล้แยกหลักสี่ 15) สถานีราชภัฏพระนคร อยู่หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร 16) สถานีอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ใกล้กับวงเวียนหลักสี่ เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่) 17) สถานีรามอินทรา 3 เป็นสถานีใหม่เพิ่มเติม ใกล้ห้างเซ็นทรัล รามอินทรา ระหว่างซอยรามอินทรา 3 และซอยรามอินทรา 5

18) สถานีลาดปลาเค้า อยู่ใกล้ทางเข้า ถ.ลาดปลาดเค้า 19) สถานีรามอินทรา 31 เป็นสถานีใหม่เพิ่มเติม ใกล้ห้างสรรพสินค้าฟู้ดแลนด์ ระหว่างซอยรามอินทรา 29 และซอยรามอินทรา 31 20)สถานีมัยลาภ อยู่ระหว่างซอยรามอินทรา 12 และซอยรามอินทรา 14 21) สถานีวัชรพล ใกล้ซอยวัชรพล 22) สถานีรามอินทรา กม.6 เป็นสถานีใหม่เพิ่มเติม อยู่ระหว่างซอยรามอินทรา 40 และซอยรามอินทรา 42

23) สถานีรามอินทรา กม.8 อยู่แยกนวมินทร์ระหว่างซอยรามอินทรา 46 และซอยรามอินทรา 48 24) สถานีรามอินทรา 91 เป็นสถานีใหม่เพิ่มเติม อยู่แยกนวมินทร์รามอินทรา กม.8 25) สถานีคันนายาว หน้าห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ 26) สถานีนพรัตนราชธานี หน้าโรงพยาบาลนพรัตน์ ใกล้แยกเข้าสวนสยาม 27) สถานีบางชัน ใกล้ซอยรามอินทรา 109 28) สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ หน้าโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ 29) สถานีตลาดมีนบุรี ใกล้ตลาดมีนบุรี และ 30) สถานีมีนบุรี อยู่ใกล้ทางแยกร่มเกล้า

เวนคืน 147 ไร่ รื้อ 259 หลัง


แหล่งข่าวกล่าวว่า ด้านการเวนคืนที่ดิน ตลอดเส้นทางคาดว่าจะมีการเวนคืนพื้นที่รวม 147 ไร่ รื้อสิ่งปลูกสร้าง 259 หลัง คิดเป็นเงินค่าชดเชยทั้งสิ้น 4,458 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 3,896 ล้านบาท และชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 562 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ปรึกษายังปรับระบบการเดินรถของรถไฟฟ้าสายนี้เป็นระบบโมโนเรล (รางเดี่ยว) เนื่องจากเป็นเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ชานเมือง ทำให้บางช่วงเวลาคนมาใช้บริการไม่มากนัก สามารถจัดการในช่วงเวลาที่มีคนน้อยได้ดีกว่า รวมทั้งเสนอแนะให้จัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อรองรับเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย


เงินลงทุนพุ่ง 5 หมื่นล้าน


ด้านงบประมาณลงทุนทั้งโครงการ แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการเพิ่มสถานีใหม่และซื้อขบวนรถเพิ่ม รวมถึงเพิ่มค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด ทำให้มีผลต่อต้นทุนการลงทุนโครงการ จากเดิมเมื่อปี 2552 อยู่ที่ 37,110 ล้านบาท ปรับใหม่เป็น 50,770 ล้านบาท แยกเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน 3,900 ล้านบาท งานโยธา 19,490 ล้านบาท งานไฟฟ้าและเครื่องกล 11,089 ล้านบาท จัดหาขบวนรถ 12,126 ล้านบาท งานประตูกั้นระหว่างรถไฟฟ้าและชานชาลา (platform screen door) 450 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 1,748 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 2,418 ล้านบาท



ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ





จาก “ประชาชาติธุรกิจ” ครับ รัฐบาลตกลงว่าจะเร่งรถไฟฟ้าสายสีชมพู แต่ปรับกลับเป็นระบบโมโนเรลอีกรอบ ในระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร แล้วเพิ่มสถานีอีก 6 แห่ง ลากยาวจากแจ้งวัฒนะไปรามอินทรา มูลค่าทั้งหมดประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ถ้าประมูลทันในสิ้นปีนี้ก็จะใช้เวลาก่อสร้างอีก 4 ปี กำหนดให้เปิดบริการในปี 60 โดยมีนโยบายเก็บค่าโดยสารตลอดสาย 20 บาท
เรามาลุ้นกันดีกว่าว่ารัฐบาลจะเร่งให้รถไฟฟ้าสายสีชมพูคลอดได้ไหม ส่วนสายล่าสุดที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในปี 2560 ตอนนี้คือสายสีแดงที่มีข่าวคืบหน้าและกำลังจะเปิดประมูลกันแล้ว
รฟม.ปรับแผนรถไฟฟ้าสายสีชมพู “แคราย-มีนบุรี” ใหม่ เป็นระบบโมโนเรล ระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร ผุดสถานีใหม่ 6 แห่ง รับศูนย์การค้า-คอนโดมิเนียมบนถนนแจ้งวัฒนะ-รามอินทราบูม ขยายจุดเวนคืนที่ดินเพิ่ม ช่วงโค้งย่านแคราย ห้าแยกปากเกร็ด ตลาดมีนบุรี ดันมูลค่าลงทุนโครงการเฉียด 5 หมื่นล้าน เตรียมเปิดประมูลในปีนี้รูปแบบเทิร์นคีย์ คาดใช้เวลาสร้าง 4 ปี เปิดบริการในปี”60 เก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย สนองนโยบายหาเสียงรัฐบาลยิ่งลักษณ์
แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้บริษัทที่ปรึกษา บจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ วงเงิน 34 ล้านบาท ทบทวนรูปแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จากผลการศึกษาเดิมของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ล่าสุดได้ข้อสรุปจะสร้างเป็นระบบโมโนเรล (รถไฟฟ้าขนาดเบา) ตามที่ สนข.ศึกษาไว้ เพราะก่อสร้างได้เร็ว ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก
“แต่มูลค่าการลงทุนจะเพิ่มขึ้นจาก 42,067 ล้านบาท เป็น 45,000-50,000 ล้านบาท เพราะเพิ่มสถานีใหม่ 6 แห่ง จาก 24 สถานี เป็น 30 สถานี โดยแทรกระหว่างสถานีที่อยู่ไกลกัน และปรับระยะห่าง 1.6 กิโลเมตร/สถานี เหลือ 1.2 กิโลเมตร/สถานี”

เพิ่มใหม่ 6 สถานี

โดยที่ตั้ง 6 สถานีใหม่ ได้แก่ 1) เยื้องศูนย์การค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ 2) ระหว่างสถานีเมืองทองธานีกับสถานีศรีรัช ปากทางเข้าเมืองทองธานี 3) ระหว่างสถานีศูนย์ราชการกับสถานีหลักสี่ ใกล้การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)และศูนย์การค้าไอทีสแควร์หลักสี่
4) ระหว่างสถานีวงเวียนหลักสี่กับสถานีลาดปลาดเค้า อยู่กึ่งกลางรามอินทรา ซอย 3 และ 5 หน้าโครงการคอนโดมิเนียมแอล.พี.เอ็น. 5) ระหว่างสถานีเคหะรามอินทรากับสถานีวัชรพล บริเวณ กม.4 และ 6) ระหว่างสถานีนวมินทร์กับสถานีคันนายาว ใกล้ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์
ส่วน 24 สถานีเดิมประกอบด้วย สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี แคราย สนามบินน้ำ สามัคคี ชลประทาน ปากเกร็ด เลี่ยงเมืองปากเกร็ด เมืองทองธานี ศรีรัช มงกุฎวัฒนะ ศูนย์ราชการกรุงเทพฯ หลักสี่ ราชภัฏพระนคร อนุสาวรีย์หลักสี่ ลาดปลาเค้า เคหะรามอินทรา วัชรพล นวมินทร์ คันนายาว สวนสยาม บางชัน เศรษฐบุตรบำเพ็ญ สีหบุรานุกิจ และมีนบุรี
ต้นทุนเวนคืนที่ดินพุ่ง
“อีกทั้งเพิ่มงบฯเวนคืนจากเดิม 4,000 กว่าล้านบาท เพราะต้องเวนคืนเพิ่มในบางจุด ส่วนใหญ่เป็นช่วงทางโค้ง เช่น แคราย ห้าแยกปากเกร็ด มีนบุรี เป็นต้น และผลพ่วงจากการปรับราคาประเมินของกรมธนารักษ์ที่จะประกาศใช้ราคาใหม่ของปีนี้ด้วย”
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ขณะนี้นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ให้เร่งปรับแผนก่อสร้างโครงการนี้ให้เสร็จโดยเร็ว และเปิดประมูลภายในปีนี้เพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายให้ทันรัฐบาลชุดนี้ และสานต่อนโยบายหาเสียง 20 บาทตลอดสาย เพราะสายสีชมพูหลังสร้างเสร็จในปี 2560 จะเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย

ประมูลสิ้นปี-เร็วขึ้นจากแผน 2 ปี

“ที่ปรึกษาจะสรุปผลศึกษาเสร็จเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะเตรียมทำเอกสารประกวดราคาและเวนคืนที่ดินประมาณตุลาคม-ธันวาคมนี้จะเปิดประมูลได้
ใช้เวลาสร้าง 4 ปี แล้วเสร็จและเปิดบริการปี 2560 เร็วขึ้น 2 ปี จากแผนแม่บทที่กำหนดในปี 2562 ปีแรกเปิดบริการ จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการกว่า 3 แสนเที่ยวคน/วัน เพิ่มขึ้นจากผลการศึกษาเดิม 20% เพราะเก็บ 20 บาทตลอดสายจะทำให้คนมาใช้มากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าวและว่า
ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเป็นดีไซน์แอนด์บิวด์ คือ จะก่อสร้างและออกแบบไปพร้อมกัน ซึ่งวิธีการนี้จะคล้ายกับการลงทุนแบบเทิร์นคีย์ (เบ็ดเสร็จ) โดยผู้รับเหมาก่อสร้าง คนออกแบบ และผู้ผลิตระบบรถไฟฟ้าจะเป็นเจ้าเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ง่ายในการก่อสร้างและบริหารจัดการเดินรถ อีกทั้งผู้ผลิตรถโมโนเรลในตลาดจะมีไม่กี่รายเท่านั้น
โดยเอกชนที่สนใจจะเสนอการลงทุนมาเป็นแพ็กเกจเดียวกันทั้งโครงการ นอกจากนี้ทางประธานบอร์ดยังได้เร่งรัดให้ รฟม.ดำเนินการออกแบบรายละเอียดรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ให้เสร็จและเปิดประกวดราคาในปีนี้ โดยให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรมเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินเดิมไปยังมีนบุรีเพื่อต่อเชื่อมกับสายสีชมพูก่อน
สำหรับแนวเส้นทางจุดเริ่มต้นจะใกล้ทางแยกแคราย จุดเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) หน้าศูนย์ราชการ จ.นนทบุรี วิ่งไปตามแนวถนนติวานนท์ เลี้ยวเข้าถนนแจ้งวัฒนะบริเวณห้าแยกปากเกร็ด
ผ่านเมืองทองธานี ศูนย์ราชการแห่งใหม่ แยกหลักสี่จะเชื่อมรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) วิ่งไปตามเกาะกลางถนนแจ้งวัฒนะผ่านมหาวิทยลัยราชภัฏพระนคร ไปเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่) ที่วงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่ วิ่งไปตามถนนรามอินทราถึงแยกมีนบุรีเลี้ยวเข้าเมืองมีนบุรีไปตามแนวถนนสีหบุรานุกิจ ผ่านคลองสามวา คลองแสนแสบ ถนนรามคำแหง สิ้นสุดที่ตลาดมีนบุรีใกล้แยกถนนรามคำแหง-ร่มเกล้า จะเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม