บริการรับฝากขาย-เช่าที่ดิน บ้าน คอนโด ทำโฆษณาให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โทร 094-6561965

บทวิเคราะห์การตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2555

กูรูชี้ ทำเลบ้าน-คอนโด ไม่กลัวน้ำ



"อสังหา"ฉบับปีมังกรทอง 

"อสังหา"กูรูชี้ทำเลบ้าน-คอนโด ไม่กลัวน้ำ


โฟกัสราคาที่ดินปี 2555

จากผลการสำรวจวิจัยของ เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตทฯ พบว่า ราคาที่ดินในเขต กทม.และปริมณฑลยังคงเพิ่มขึ้นอีก 5% ส่วนราคาที่ดินใจกลางเมืองที่มีรถไฟฟ้าผ่านจะพุ่งขึ้นไม่ต่ำกว่า 12-15% แม้ว่าหลายพื้นที่จะประสบภัยน้ำท่วมก็ตาม ปีที่ผ่านมาแปลงที่ดินที่มีราคาสูงสุด คือ สยามพารากอน สยามสแควร์ และ พื้นที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าชิดลมรถไฟฟ้าเพลินจิต ประเมินเป็นมูลค่าได้ถึง 1.4 ล้านบาทต่อตารางวา (ตร.ว.) หรือไร่ละ 560 ล้านบาท เทียบกับปี 53 เพิ่มขึ้นถึง 17% ภายในเวลา 1 ปี


ราคาที่ดินปี 54 เพิ่มขึ้น 4.0% เมื่อเทียบปี 53 ถือว่าเพิ่มสูงกว่าดอกเงินฝาก ลองถ้าย้อนไปในปี 53 จะพบว่า ราคาที่ดินเพิ่มสูงกว่า หรือสูงถึง 4.4% เพราะการส่งออกดี ทำให้เศรษฐกิจประเทศดี จึงมีผู้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มาก ราคาที่ดินก็สูงขึ้น แม้จะมีวิกฤติการเมืองใน พ.ค.53 โดย ขณะที่ดอกเบี้ยและภาษีธุรกิจเฉพาะจะเพิ่มขึ้น
เมื่อ 17 ปีก่อน ที่ดินที่มีราคาแพงที่สุดอยู่ที่เยาวราช สีลม และสยามสแควร์ ตร.ว.ละ 700,000, 450,000 และ 400,000 บาทตามลำดับ แต่ปัจจุบันที่ดินที่มีราคาสูงขึ้นผิดหูผิดตา หรือเพิ่มขึ้นปีละนับสิบเปอร์เซ็นต์ โดยไม่หยุดเลยก็คือ ที่ดินริมถนนที่มีรถไฟฟ้าสายต่างๆวิ่งผ่านนายโสภณ

ที่ดินที่ รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (รถไฟฟ้า BTS) วิ่งผ่าน มีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.7% ในช่วงปี 53-54 ที่เพิ่มต่ำสุดคือ หมอชิต เพิ่มขึ้นเพียง 5.6% แต่ก็ยังจัดว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของราคาที่ดินทั้ง กทม.และปริมณฑลที่เพิ่มขึ้น 4% “ตั้งแต่เปิดเดินรถไฟฟ้ามาเมื่อปี 41 จนถึงวันนี้ ราคาที่ดินย่านสถานีรถไฟฟ้า บีทีเอส เพิ่มขึ้น 210% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า โดยเฉพาะย่านสถานีนานา ราคาเพิ่มขึ้นถึง 270% จากย่านการค้าเล็กๆบนถนนสุขุมวิท และเขตที่อยู่อาศัยชั้นดี ก็กลายเป็นแหล่งการค้าสำคัญเชื่อมต่อกับเพลินจิต


ส่วนราคาที่ดิน ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้า BTS ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14.8% อย่างที่อ่อนนุช ราคาเพิ่มขึ้น 19% เป็น 450,000 บาทต่อ ตร.ว.ในปี 54 ส่วนในซอยแบริ่ง ราคาเพิ่มขึ้นต่ำสุด 11.1% สำหรับส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้า ราคาเพิ่มขึ้น 12.1% โดยเพิ่มสูงสุดที่ย่านถนนกรุงธนบุรี 18% และเพิ่มต่ำสุดที่บางหว้า ซึ่งเป็นสถานีสุดท้าย และขณะนี้มีราคา ตร.ว.ละ 110,000 บาทแล้ว ส่วนในพื้นที่ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่ ราคาเพิ่มขึ้นเพียง 9.5% เพราะยังไม่ได้มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้านั่นเอง

ไปดูที่ดินในย่าน รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (รถไฟฟ้า MRT) วิ่งผ่าน ราคาเพิ่มขึ้น 14.4% ในปี 54 เร็วกว่าที่ดินที่รถไฟฟ้า BTS ผ่านเสียอีก ส่วนที่เพิ่มขึ้นต่ำสุดคือ บางซื่อ ตร.ว.ละ 170,000 บาท และเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ที่ย่านสถานีสีลม แต่เมื่อเจาะดูภาพรวมก็พบว่า ที่ดินย่านรถไฟฟ้า MRT ผ่าน เพิ่มขึ้น 90% ขณะที่รถไฟฟ้า BTS เพิ่มขึ้น 128%” และแม้แต่ที่ดินย่านที่ถูกน้ำท่วมหนัก เช่น ย่านสถานีคลองบางไผ่ ก็ราคาเพิ่มขึ้นเป็น ตร.ว.ละ 60,000 บาท เพิ่มขึ้น 9.1%, ตลาดบางใหญ่ ตร.ว.ละ 85,000 บาท เพิ่มขึ้น 13.3% หรือที่ท่าอิฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 11.8%

แม้ จะมีปัญหาน้ำท่วม แต่เราก็ยังเชื่อว่า ราคาที่ดินในย่านเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอีก 10% ในปี 55 การที่ที่ดินริมถนนรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ และอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ แสดงนัยสำคัญว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าใจกลางเมืองมีความคุ้มค่ามากทั้งยังสร้างความเจริญให้ประเทศอย่างเด่นชัด ยิ่งถ้าเวนคืนที่ดินริมสถานีรถไฟฟ้ามาพัฒนาในเชิงพาณิชย์เพื่อประโยชน์ส่วน รวมได้ ก็เท่ากับว่า รถไฟฟ้าทุกสาย สามารถสร้างได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ขณะที่การก่อสร้างรถไฟฟ้าใจกลางเมืองจะช่วยให้ กทม.มีการเติบโตอย่างมีแบบแผน ไม่ล้ำออกไปในพื้นที่ชานเมืองด้วย


อสังหาริมทรัพย์ไม่กลัวน้ำ

ที่ เมืองอาเจะห์ อินโดนีเซีย ซึ่งเกิดสึนามิในปี 47 ปรากฏว่า แม้เมืองจะถูกคลื่นยักษ์ถล่มเรียบ และมีผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คน แต่ในระยะ 2 ปี ราคาอสังหาริมทรัพย์กลับพุ่งสูงขึ้นมาก เพราะรัฐลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคใหม่

กรณีของประเทศไทย ก็เช่นกัน แม้จะมีน้ำท่วมใหญ่ในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเขต กทม.และปริมณฑลถึง 15,655 ล้านบาท จากยอดขายรวม 5,654 หน่วยในเดือน พ.ย.54 ทั้งนี้ ทั้งอาคารชุดและบ้าน มียอดขายรวม 5,654 หน่วย

จะเห็นได้ว่า แม้มีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้น แต่การเปิดตัวโครงการใหม่ๆในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ยังไม่ได้สะดุดหยุดลง เพราะภัยธรรมชาติ เป็นความไม่แน่นอนที่เข้าใจได้ ที่สำคัญ แม้ภาพเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็ยังมีแนวโน้มเติบโต และปัญหาน้ำท่วมนี้ไม่มีผลในระยะยาว ความวิตกว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะประสบปัญหาหนัก จึงไม่เป็นจริงนายโสภณ ย้ำ

นาย โสภณ ยกตัวอย่าง น้ำท่วมใหญ่ในปี 38 ซึ่งท่วมเข้าไปถึงพระบรมมหาราชวัง และพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ ว่า ไม่ได้ทำให้ราคาบ้านและที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวลดลง เพราะเศรษฐกิจประเทศขณะนั้นกำลังเติบโต จึงทำให้อสังหาริมทรัพย์ขยายตัวสูงสุด แต่โดยที่ขาดการควบคุมการเติบโตอย่างร้อนแรงจึงกลายเป็นฟองสบู่แตกในปี 40

อย่าง น้ำท่วมหาดใหญ่ซึ่งสูงถึง 2-3 เมตรในปี 53 จนมีผู้เห็นว่าควรย้ายเมือง แต่ถัดไปไม่ถึง 6 เดือน หาดใหญ่ก็กลับฟื้นตัวขึ้นรวดเร็ว เพราะการท่องเที่ยว และการหนีภัยโจรใต้ของพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปซื้อบ้านในหาดใหญ่กันมาก แม้แต่น้ำท่วมใหญ่ที่เมืองนิวออร์ลีนส์ หลุยเซียนา สหรัฐฯ เมื่อปี 48 ก็ยังปรากฏว่าราคาบ้านได้เพิ่มขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯช่วงนั้นยังดีอยู่ ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้นรวดเร็วปีละนับสิบเปอร์เซ็นต์ ก่อนฟองสบู่แตกในปี 50”

สำหรับประเทศไทยซึ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 บ้านที่เสียหายจากน้ำท่วม ย่อมมีมูลค่าลดลงเฉพาะหน้า เช่น บ้านเดี่ยวใน กทม.มีราคาเฉลี่ย 3 ล้านบาท คิดเป็นค่าตัวอาคารประมาณ 1 ล้านบาท แยกเป็นส่วนโครงสร้าง 350,000 บาท ส่วนสถาปัตยกรรม 500,000 บาท และส่วนงานระบบประกอบอาคารอีก 150,000 บาท ในกรณีนี้ หากน้ำท่วมเฉพาะชั้นล่าง โครงสร้างคงไม่ได้รับความเสียหาย ที่เสียหายคงเป็นงานสถาปัตยกรรม และงานระบบบางส่วน คาดว่าความเสียหายจะเป็นเงินประมาณ 150,000-200,000 บาท หรือราว 5-7% ของมูลค่าบ้าน

ในกรณีที่ผู้ขายเสียกำลังใจ และขายไปตามสภาพโดยไม่ซ่อมแซมใดๆ ก็จะทำให้ราคาขายต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก อาจขายได้ในเพียง 60–80% ของราคาบ้าน จึงไม่สมควรจะขายบ้านหลังน้ำท่วม ยกเว้นจำเป็นจริงๆ ในทางตรงกันข้าม ก็เป็นโอกาสของนักลงทุนที่จะซื้อบ้านเหล่านี้มาซ่อมแซมเพื่อขายต่อในทำนอง ใส่ตะกร้าล้างน้ำได้ ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัย เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตทฯ กล่าว

เขายังกล่าวถึงบรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจด้วยว่า อาจทำให้ยอดรับรู้รายได้ลดน้อยลง เพราะช่วง 6 เดือนแรก ตลาดที่อยู่อาศัยอาจแผ่วลง การซื้อบ้านอาจลดลง เนื่องจากอารมณ์ความรู้สึกกลัวน้ำท่วม แต่ที่สำคัญคือเศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้รายได้ประชาชนลดลงจากการไม่ได้ทำงานในช่วงน้ำท่วมเป็นเวลา 2-5 เดือน นอกจากนี้ ราคาวัสดุก่อสร้างอาจเพิ่มขึ้นผิดปกติไประยะหนึ่ง เพราะความต้องการใช้เพื่อการซ่อมแซมบ้าน ทำให้อุตสาหกรรมการก่อสร้างบ้านขาย หรือบ้านจัดสรร ได้รับผลกระทบไปด้วย

นายโสภณ ยังเชื่อด้วยว่า ทำเลการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยคงไม่เปลี่ยนไป และพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ก็คงไม่ลดศักยภาพลงในระยะยาว ส่วนโอกาสการซื้อบ้านหลังที่สอง โดยเฉพาะห้องชุดพักอาศัยเผื่อไว้ในใจกลางเมือง และชานเมืองอาจมีอยู่ แต่คงไม่มาก หรือทำให้ห้องชุดใจกลางเมืองขายดีมากมายเกินจริงจากปกติที่ขายดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้แนวรถไฟฟ้า ที่ผ่านมา แม้ไม่มีน้ำท่วมก็มีการซื้อบ้านหลังที่สองเผื่อการจราจรติดขัด หรือเผื่อให้บุตรหลานเรียนหนังสือใจกลางเมืองอยู่แล้ว โดยไม่เกี่ยวข้องกับกรณีน้ำท่วม.


ตลาดคอนโดกลับมาคึกคัก

นาย สัมมา เปิดเผยว่า สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในรอบปี 2554 เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ด้วยเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อใหม่ (Loan-to-Value Ratio หรือ LTV Ratio) สำหรับที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุดคอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท จากเกณฑ์เดิม คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุญาตให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้เต็มมูลค่า เปลี่ยนเป็นให้ปล่อยได้เพียงไม่เกิน 90% ของมูลค่า หากสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อห้องชุดคอนโดมิเนียมเกินกว่าเกณฑ์ LTV หรือเกินกว่า 90% ต้องมีเงินกองทุนรองรับตามน้ำหนักความเสี่ยง (Risk Weight) ที่ระดับ 75% แทนที่จะเป็น 35% ซึ่งที่สุดทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออื่นได้น้อยลงนั้น หลักเกณฑ์ดังกล่าวผสมกับความร้อนแรงของตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2553 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การเปิดโครงการคอนโดมิเนียมลดลงมากตั้งแต่ต้นปี 2554

อย่างไร ก็ตาม เมื่อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้ที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวนมากถูกน้ำท่วม ทั้งที่เป็นบ้านในโครงการจัดสรรและบ้านนอกโครงการ ส่งผลทางจิตวิทยา ทำให้ตลาด คอนโดมิเนียมกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

นอกจากนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปรับขึ้นตั้งแต่เดือนก.ค.2553 และขึ้นติดกัน 6 ครั้ง ครั้ง ละ 0.25% ก่อนที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ 7 เมื่อเดือน ต.ค.2554 และปรับลดเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2554 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2554 อยู่ที่ 3.25% เนื่องจากมีการคาดหมายกันว่า เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงมากจากภาวะน้ำท่วมรุนแรงและความกังวลเรื่องปัญหาหนี้ สาธารณะในยุโรปและเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังทรุดตัวหนัก

ความเคลื่อนไหว ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว ทำให้ค่าเฉลี่ยของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทลอยตัวของ 6 ธนาคารใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ขยับขึ้นจากระดับ 6.65% เมื่อต้นปี ขึ้นมาอยู่ที่ 7.54% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ขณะที่อัตราดอกเบี้ย MRR เฉลี่ยของ 6 ธนาคารใหญ่ ปรับจากเฉลี่ย 7% เป็นเฉลี่ย 7.98% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ดอกเบี้ย สินเชื่อบ้านที่ไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากนัก เมื่อเทียบกับการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. จึงไม่ได้เป็นปัจจัยลบมากนักสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมา อีกทั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ยังมีโครงการบ้านหลังแรก อัตราดอกเบี้ย 0% เป็นระยะเวลา 2 ปี ทำให้ยอดสินเชื่อปล่อยใหม่สำหรับที่อยู่อาศัยพุ่งสูงขึ้นในช่วงกลางปี จนถึงก่อนเกิดอุทกภัยถึงได้ชะลอตัวลง

โดยในไตรมาสแรกของปี 2554 ยอดสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่มีมูลค่ารวม 82,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 99,300 ล้านบาท ในไตรมาส 2 และเพิ่มขึ้นเป็น 111,300 ล้านบาทในไตรมาส 3 เมื่อรวม 3 ไตรมาสแรกแล้ว มูลค่าสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่รวมกันเท่ากับ 292,900 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้น 4% จากยอดรวมใน 3 ไตรมาสแรกของปีก่อนหน้า เนื่องมาจากการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์และการให้อัตราดอกเบี้ยจูงใจเพื่อ แข่งกับอัตราดอกเบี้ยพิเศษของ ธอส.

ผลพวงพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

อย่างไร ก็ตาม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยรุนแรง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสำคัญต่างๆ มากมาย รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลและจังหวัดรายรอบ อันทำให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการได้รับความสูญเสียและกระทบต่อการซื้อ ขายในตลาดที่อยู่อาศัย

ผลพวงดังกล่าว ทำให้แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2555 เทน้ำหนักไปที่ที่อยู่อาศัยประเภทแนวสูงหรือคอนโดมิเนียม เนื่องจากผู้บริโภคยังหวั่นไหวต่อภัยน้ำท่วม โดยอาคารชุดตามแนวรถไฟฟ้าแถบปริมณฑลที่ไม่ห่างไกลจากเมืองและอยู่ใกล้เคียง สาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เช่น ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงพยาบาล ถนนสายหลัก จะได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อเทียบกับโครงการแนวราบในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งผู้ประกอบการซึ่งมีแปลงที่ดินในบริเวณดังกล่าว อาจกลับมาสนใจเปิดโครงการแนวสูงแทนในสัดส่วนที่มากขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุก่อสร้างมี ราคาแพง เนื่องจากภาครัฐต้องเร่งดำเนินการบูรณะซ่อมแซมถนน สะพาน และสิ่งปลูกสร้างต่างๆจำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้การก่อสร้างบ้านใหม่มีราคาแพงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อราคาขายบ้านในอนาคต

เขายังเชื่อว่า ในปี 2555 นี้ ผู้บริโภคจะพิถีพิถันและละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการเลือกบ้าน จะใช้เวลายาวนานขึ้นในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะด้านทำเล จะให้ความสำคัญกับระดับความสูงของพื้นที่โครงการและระดับความสูงของเส้นทาง สัญจรรอบด้าน ให้สามารถเดินทางออกสู่ถนนใหญ่สายหลักได้ เพื่อให้สามารถป้องกันภัยจากน้ำท่วมได้ในอนาคต

ผู้บริโภคส่วนหนึ่ง ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย แต่ไม่สามารถซื้อบ้านเดี่ยวได้ เพราะมีงบประมาณจำกัด หรือความสามารถในการหารายได้ลดลง อาจเลือกซื้อห้องชุดคอนโดมิเนียมแทนการซื้อทาวน์เฮาส์ หากไม่มั่นใจว่าโครงการแนวราบในทำเลที่ต้องการจะอยู่ปลอดภัยจากภาวะน้ำท่วม หรือไม่ สำหรับคนมีรายได้น้อย คงต้องซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเดิมไปก่อน

ทั้งนี้ ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ ได้หยุดชะงักตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 และคาดว่าจะกินระยะเวลาไปจนถึงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยภายหลังน้ำลดจะเป็นช่วงเวลาของการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ความต้องการสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยน่าจะสูงขึ้น แต่ความต้องการสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่จะลดลง เพราะการชะลอการขอโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยตามยอดขายที่มีปริมาณลดลง

ขณะ เดียวกัน การที่คณะกรรมการ กนง. ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศเลื่อนการบังคับใช้เกณฑ์ LTV Ratio ซึ่งเดิมกำหนดให้บังคับใช้ 95% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2554 เป็นวันที่ 1 ม.ค.2556 หรือเลื่อนออกไปอีก 1 ปี สำหรับการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแนวราบหรือโครงการจัดสรรนั้น ถือเป็นปัจจัยบวกสำคัญสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบในปีนี้

นอกจาก นั้น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง สีแดง และสีน้ำเงินที่ยังคงดำเนินต่อไป หลังจากชะงักไปช่วงหนึ่งจากปัญหาอุทกภัย จะเป็นปัจจัยเสริมให้การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงยัง ดำเนินต่อไปได้ และหากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก ตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้ จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างช้าๆแน่นอน”.


ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่นี่

ทีมเศรษฐกิจ
ที่มา ไทยรัฐ  Credit